ประวัติพระราชบิดาแห่งฝนหลวง2
ทรงพระผนวช
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2499
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจำพรรษา ณ
พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร ปฏิบัติพระศาสนกิจ เป็นเวลา 15 วัน ระหว่างนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินี
ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลนี้ได้ทรงพระกรุณาสถาปนาพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมชนกนาถขึ้นเป็น
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงสถาปนา สมเด็จพระราชชนนี
เป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
และทรงประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลใหม่ เมื่อวันที่ 8
มิถุนายน 2539 เพื่อให้สมพระเกียรติตามโบราณขัตติยราชประเพณี
ทั้งนี้ด้วยพระจริยวัตรอันเปี่ยมด้วยพระกตัญญูกตเวทิตาธรรมอันเป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญพระปรมาภิไธยใหม่ที่ทรงสถาปนาคือ
“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จุฬาลงกรณราชปรียวรนัดดา มหิตลานเรศวรางกูร
ไอศูรยสันตติวงศวิสุทธ์ วรุตมขัตติยศักตอรรคอุดม จักรีบรมราชวงศนิวิฐ
ทศพิธราชธรรมอุกฤษฎนิบุณ อดุลยกฤษฎาภินิหารรังสฤษฏ์ สุสาธิตบูรพาธิการ
ไพศาลเกียรติคุณอดุลพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ ธัญอรรคลักษณวิจิตร โสภาคย์สรรพางค์
มหาชโนตมงคประณตบาทบงกชยุคล อเนกนิกรชนสโมสรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ
นพปฏลเศวตฉัตราดิฉัตร สรรพรัฐทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร
มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์
วิศิษฏศักตอัครนเรศราธิบดี เมตตากรุณา สีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ
สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”
พระราชกรณียกิจ
ตั้งแต่พุทธศักราช 2502 เป็นต้นมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ
ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรป อเมริกา
ออสเตรเลีย และ เอเชีย และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ
ทุกภาคทรงประจักษ์ในปัญหาของราษฎรในชนบทที่ดำรงชีวิตด้วยความยากจน
ลำเค็ญและด้อยโอกาส ได้ทรงพระวิริยะอุตสาหะหาทางแก้ปัญหาตลอดมาตราบจนปัจจุบัน
อาจกล่าวได้ว่า ทุกหนทุกแห่งบนผืนแผ่นดินไทยที่รอยพระบาทได้ประทับลง
ได้ทรงขจัดทุกข์ยากนำความผาสุกและทรงยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎร ให้ดีขึ้นด้วยพระบุญญาธิการและพระปรีชาสามารถปราดเปรื่อง
พร้อมด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของราษฎร
และเพื่อความเจริญพัฒนาของประเทศชาติตลอดระยะเวลาโดยมิได้ทรงคำนึงประโยชน์สุขส่วนพระองค์เลย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานโครงการนานัปการมากกว่า 2,000 โครงการ ทั้งการแพทย์สาธารณสุข การเกษตร การชลประทาน การพัฒนาที่ดิน
การศึกษา การพระศาสนา การสังคมวัฒนธรรม การคมนาคม
ตลอดจนการเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรในชนบท ทั้งยังทรงขจัดปัญหาทุกข์ยากของประชาชนในชุมชนเมือง
เช่น ทรงแก้ปัญหาการจราจรอุทกภัยและปัญหาน้ำเน่าเสียในปัจจุบัน
ได้ทรงริเริ่มโครงการการช่วยสงเคราะห์ และอนุรักษ์ช้างของไทยอีกด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงตรากตรำพระวรกายทรงงานอย่างมิทรงเหน็ดเหนื่อย แม้ในยามทรงพระประชวร ก็มิได้ทรงหยุดยั้งพระราชดำริเพื่อขจัดความทุกข์ผดุงสุขแก่พสกนิกร
กลางแดดแผดกล้าพระเสโทหลั่งชุ่มพระพักตร์
และพระวรกายหยาดตกต้องผืนปฐพีประดุจน้ำทิพย์มนต์ชโลมแผ่นดินแล้งร้าง
ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์นับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชตราบจนปัจจุบัน
แม้ในยามประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา ก็ได้พระราชทานแนวทางดำรงชีพแบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” และ
“ทฤษฎีใหม่” ให้ราษฎรได้พึ่งตนเอง
ใช้ผืนแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดประกอบอาชีพอยู่กินตามอัตภาพซึ่งราษฎรได้ยึดถือปฏิบัติเป็นผลดีอยู่ในปัจจุบัน
พระอัจฉริยภาพ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานความรักอันยิ่งใหญ่แก่อาณาประชาราษฎร์
พระราชภารกิจอันหนักเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์
ปรากฏเป็นที่ประจักษ์เทิดทูนพระเกียรติคุณทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวโลก
จึงทรงได้รับการสดุดีและการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญากิตติมศักดิ์เป็นจำนวนมากทุกสาขาวิชาการ
ทั้งยังมีพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีอย่างสูงส่ง
ทรงพระราชนิพนธ์เพลงอันไพเราะนับแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบันรวม 47 เพลง ซึ่งนักดนตรีทั้งไทย และต่างประเทศนำไปบรรเลงอย่างแพร่หลาย
เป็นที่ประจักษ์ในพระอัจฉริยภาพจนสถาบันดนตรีในออสเตรเลียได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์แด่พระองค์
นอกจากนั้นยังทรงเป็นนักกีฬาชนะเลิศรางวัลเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ทรงได้รับยกย่องเป็น
“อัครศิลปิน”
ของชาตินอกจากทรงพระปรีชาสามารถด้านดนตรีแล้วยังทรงสร้างสรรค์งานจิตรกรรมและวรรณกรรมอันทรงคุณค่าไว้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ
เช่น ทรงพระราชนิพนธ์ แปลเรื่อง
ติโตนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระและพระราชนิพนธ์เรื่องชาดกพระมหาชนก
พระราชทานคติธรรมในการดำรงชีวิตด้วยความวิริยะอุตสาหะอดทนจนพบความสำเร็จแก่พสกนิกรทั้งปวง
ปวงชนชาวไทยต่างมีความจงรักภักดีเป็นที่ยิ่งดังปรากฏว่าในวาระสำคัญ
เช่น ศุภวาระเถลิงถวัลยราชครบ 25 ปี พระราชพิธีรัชดาภิเษก 9 มิถุนายน 2514 พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530
พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกทรงดำรงสิริราชสมบัติยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ 2 กรกฎาคม 2531 มหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี 9 มิถุนายน 2539
และในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542
รัฐบาลและประชาชนชาวไทยได้พร้อมใจกันจัดงานเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคลด้วยความกตัญญูกตเวที
สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างสมพระเกียรติทุกวาระ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์เครือข่ายกาญจนาภิเษก
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น